ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ |
|||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
มาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น | |||||||||
คำพิพากษาศาลฎีาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3999/2559 ก่อนมีการตกลงว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้ากังหันไอน้ำความดันต่ำ โจทก์แจ้งกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าว่า ประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ให้จำเลยทราบแล้วในหนังสือขอให้จำเลยเสนอราคาค่าจ้างบริการขนส่งสินค้าทางเรือ ดังนั้น ก่อนเสนอราคาจำเลยย่อมต้องตรวจสอบตารางการเดินเรือว่าสามารถดำเนินการรับขนสินค้าจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ได้ทันวันดังกล่าวหรือไม่ แต่จำเลยกลับนำสืบว่าได้จองเรือที่เดินทางออกจากท่าเรือในวันที่ 23 มิถุนายน 2552 นอกจากนี้เมื่อโจทก์สนองรับราคาของจำเลย โจทก์ยังแนบสัญญาซื้อขายกังหันไอน้ำความดันต่ำซึ่งมีกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ไปพร้อมกับหนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือให้จำเลยทราบอีกด้วย จำเลยจึงย่อมต้องทราบดีว่าหากจำเลยไม่สามารถจัดหาเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางเมืองโยโกฮามาอย่างช้าที่สุดวันที่ 25 มิถุนายน 2552 ได้ จำเลยยังมีทางเลือกที่จะจัดหาเรือซึ่งออกจากท่าเรือต้นทางอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ได้อีกด้วย แม้หนังสือจ้างจะไม่มีข้อตกลงให้จำเลยไปรับสินค้าในวันที่ 25 มิถุนายน 2552 โดยมีเพียงข้อกำหนดให้จำเลยส่งมอบงานภายใน 22 วัน นับจากวันที่จำเลยรับสินค้าจากผู้ขายที่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นก็ตาม แต่จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้ว่าจำเลยทราบกำหนดวันที่ผู้ขายจะส่งมอบสินค้าให้แก่โจทก์ หนังสือจ้างขนส่งสินค้าทางเรือจึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาที่จำเลยต้องปฏิบัติตามสัญญาไว้แน่นอน การที่จำเลยจองระวางเรือซึ่งมีกำหนดการเดินทางออกจากท่าเรือเมืองโยโกฮามาวันที่ 23 มิถุนายน 2552 จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการจองระวางเรือที่เหมาะสมกับกำหนดเวลาส่งมอบสินค้าจากผู้ขาย แม้จำเลยนำสืบว่าเรือเดินทะเลอาจเทียบท่าก่อนตารางการเดินเรือได้เนื่องจากภัยธรรมชาติตามสัญญาเลย์แคน (Laycan) และเป็นเหตุสุดวิสัยที่จำเลยไม่อาจควบคุมได้ แต่เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบว่าเหตุที่เรือที่จำเลยว่าจ้างเข้าเทียบท่าเรือและออกจากท่าเรือก่อนกำหนดเกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไร ทั้งกรณีจะเป็นเหตุสุดวิสัยจะต้องได้ความว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 เมื่อจำเลยประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับขนสินค้าทางทะเลย่อมต้องทราบดีว่าระยะเวลาการเดินเรือและเข้าเทียบท่าอาจคลาดเคลื่อนได้ หากจำเลยใช้ความระมัดระวังตามสมควรในฐานะผู้ประกอบการก็ไม่ควรจองระวางเรือที่จะออกจากท่าเรือต้นทางก่อนถึงกำหนดส่งมอบสินค้าตามที่โจทก์แจ้งไว้ล่วงหน้า จึงหาใช่เหตุสุดวิสัยดังข้อต่อสู้ของจำเลยไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างไม่ไปรับสินค้าตามกำหนดที่ตกลงไว้กับโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย หาใช่เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในกรณีที่สินค้าสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบสินค้าชักช้า จึงไม่สามารถนำ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 52 และ 58 มาปรับใช้แก่คดีดังที่จำเลยต่อสู้ได้ เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบกำหนดรับมอบสินค้าว่าประมาณวันที่ 25 มิถุนายน 2552 แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาเรือไปรับสินค้าให้ทันวันดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์จะใช้สินค้าเมื่อใด เนื่องจากโจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแก่พฤติการณ์พิเศษตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10285/2557 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 คำว่า "เหตุสุดวิสัย" หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่ ธ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ซื้อทรัพย์ให้นำเงิน 550,000 บาท ไปชำระต่อกรมบังคับคดีแล้วกลับยักยอกเงินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ผู้ซื้อทรัพย์คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อเหตุแห่งการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อทรัพย์ และเป็นเหตุที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่อาจคาดหมายได้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงอ้างเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อขอขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 - 844/2553 เหตุที่จะถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 จะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่จำเลยจัดสรรที่ดินและได้ประกาศขายที่ดินแปลงย่อยพร้อมบ้านพักอาศัยแก่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งผู้บริโภคทั้งสิบห้าโดยที่มิได้ตระเตรียมเงินลงทุนไว้ให้พร้อมเสียก่อนเมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับเงินลงทุน ซึ่งสถาบันการเงินระงับการให้กู้ในระหว่างนั้นเป็นเหตุให้การดำเนินการปลูกสร้างบ้านพักอาศัยหยุดชะงักลง จึงเป็นความผิดของจำเลยที่ไม่เตรียมการป้องกันไว้ก่อนทั้งๆ ที่สามารถกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยอันจะเป็นเหตุให้จำเลยหลุดพ้นจากความรับผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2550 ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ จำเลยมีทนายความและรูปคดีไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน ย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปอีก 3 วัน โดยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นแต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ |